วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

การก่อตัวของลัทธิชาตินิยม

การก่อตัวของลัทธิชาตินิยม
    ลัทธิชาตินิยมเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรักความนิยม ความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในชาติ เชื้อชาติและวัฒนธรรมในชาติ เช่นศาสนา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆเงื่อนไขสำคัญที่เชื่อมโยงให้เกิดลัทธิชาตินิยมในหมู่ประชาชนคือการมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเผชิญปัญหาร่วมกัน ดังนั้นกระแสชาตินิยมจึงก่อตัวขึ้นได้ในทุกดินแดน เมื่อคนในชาตินั้นรู้สึกว่าชาติเผ่าพันธุ์หรือวัฒนธรรมของตนกำลังถูกคุกคามหรือครอบงำจากชนชาติอื่นหรือชนกลุ่มอื่นในชาติเดียวกัน

สาเหตุของการเกิดลัทธิชาตินิยม


     ลัทธิชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละดินแดนมีพัฒนาการแตกต่างกันตามเงื่อนไขและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดลัทธิชาตินิยม สาเหตุสำคัญของการเกิดลัทธิชาตินิยมเป็นผลจากการขยายลัทธิจักรวรรดินิยม ความคลั่งชาติและความเชื่อมั่นในอุดมการณ์การเมือง

    การขยายลัทธิจักรวรรดินิยมลัทธิชาตินิยมมักก่อตัวขึ้นในดินแดนอาณานิคมนำโดยปัญญาชนและผู้นำชาวพื้นเมืองที่ได้รับการศึกษาดีและรู้เท่าทันชาวตะวันตก บุคคลเหล่านั้นเห็นว่าชาวตะวันตกกอบโกยทรัพยากรและความมั่งคั่งไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน ในขณะที่ชาวอาณานิคมมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นและด้อยพัฒนา จึงเกิดความรู้สึกต่อต้านเมืองแม่และปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชน ทั้งในรูปของการแสดงปาฐกถา และการเผยแพร่แนวความคิดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น บทความ และแผ่นปลิวความคลั่งชาติ ความรักชาติและเผ่าพันธุ์อย่างรุนแรงของผู้นำประเทศบางคนที่ต้องการสร้างประเทศของตนให้เป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ ทำให้กลายเป็นความคลั่งชาติและมีการปลุกกระแสนิยมในหมู่ประชาชนให้คล้อยตาม ความคิดและปฏิบัติตามผู้นำ ดังกรณีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซี (Nazi) เยอรมันต้องการสร้างประเทศเยอรมณีให้เป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ และยุยงให้ต่อต้านชาวยิว เพราะฮิตเลอร์เชื่อว่าชาวยิวเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของชนเผ่าอารยัน แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในระหว่างสงครามดังกล่าว




    ความเชื่อมั่นในอุดมการณ์การเมืองความยึดมั่นในลัทธิการเมืองของผู้นำแต่ละประเทศก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดลัทธิชาตินิยมด้วย โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศที่ยึดถืออุดมการณ์การเมืองแตกต่างกัน ผู้นำบางประเทศได้ปลุกกระแสชาตินิยมให้ประชาชนคล้อยตามอุดมการณ์ที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ และให้ต่อต้านอุดมการณ์ที่แตกต่างจากตนอย่างรุนแรง เช่น กรณีเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งต่างยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนจนไม่สามารถปรองดองกัน

การขยายตัวของลัทธิชาตินิยม

    ลัทธิชาตินิยมเริ่มขึ้นในทวีปยุโรปและขยายตัวในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากนั้นลัทธิชาตินิยมได้ ขยายตัวในทวีปต่างๆ อย่างรวดเร็วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ถูกย่ำยีจากกองทัพของต่างชาติ เช่น กองทัพนาซีเข้ารุกรานประเทศยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก และกองทัพของญี่ปุ่นกดขี่ข่มเหงประชาชนในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างสงครามมหาเอเชียบรูพา ส่งผลให้มีการขยายตัวของลัทธิชาตินิยม ต่อมาลัทธิชาตินิยมได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในประเทศเกิดใหม่หลังสงครามและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในดินแดนเหล่านั้น หารขยายตัวของลัทธิชาตินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสาเหตุ ดังต่อไปนี้
ประการแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนต่างๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ ตลอดจนชนกลุ่มน้อยที่เคยถูกปกครองและถูกกดขี่ข่มเหงจากประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเดียวกันได้ใช้ลัทธิชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว ขอแยกตัวเป็นอิสระ ส่งผลให้มีประเทศเกิดใหม่เนื่องจากแรงผลักดันด้านชาตินิยมเป็นจำนวนมากในเอเชีย แอฟริกา และแหลมบอลข่าน
ประการที่สอง ประชาชนในประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นอดีตอาณานิคมของต่างชาติถูกกระตุ้นให้มีความนึกคิดแบบชาตินิยม เนื่องจากผู้นำประเทศต้องการใช้จิตสำนึกนี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ เช่น เวียดนาม และเกาหลีใต้
ประการที่สาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต่างพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า และอาศัยความช่วยเหลือจากชาติมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ชาติมหาอำนาจจึงฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบและเรียกร้องสิ่งตอบแทน เช่น การขอตั้งฐานทัพเพื่อขยายอิทธิพลทางการทหารและการเอาเปรียบด้านการค้า กรณีเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมต่อต้านประเทศมหาอำนาจ เช่น การประท้วงขับไล่ทหารอเมริกันในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ การประท้วงสินค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย ฯลฯ

ผลของลัทธิชาตินิยม

การต่อสู้และเรียกร้องเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมได้ส่งผลกระทบที่สำคัญคือ
ประการแรก ทำให้เกิดสงครามเรียกร้องเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเจ้าของอาณานิคมเดิม หรือผู้ปกครองประเทศไม่ยินยอมให้ชนกลุ่มน้อยแบ่งแยกดินแดน กลุ่มชาตินิยมจึงผลักดันให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้าน เช่น สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับอาณานิคมในอินโดจีน สงครามระหว่างกลุ่มเรียกร้องเอกราชในอินโดนีเซียกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ และสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ในแหลมบอลข่าน แอฟริกา พม่า อิหร่าน และอิรัก
ประการที่สอง ทำให้มหาอำนาจในสงครามเย็นฉวยโอกาสแทรกแซงการต่อสู้ของกลุ่มชาตินิยมในประเทศที่กำลังมีความขัดแย้งเป็นผลให้ปัญหาบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง และประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ดังเช่น กรณีสงครามกลางเมืองในกัมพูชา สงครามเวียดนาม และสงครามเกาหลี
แหล่งอ้างอิง http://metricsyst.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น