วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

การเขียนรายงานที่ดี

การเขียนรายงานทางวิชาการ

การเขียนรายงานทางวิชาการ  เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการเรียน ในระดับอุดมศึกษา  ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาในระดับนี้จะเน้นให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  สามารถแสวงหาความรู้   ฝึกฝนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้    รวมทั้งสามารถนำเสนอผลการศึกษาเรียนรู้ของตนเองได้      นักศึกษาจะเขียนรายงานทางวิชาการได้อย่างไร   รายงานลักษณะใดที่จัดว่าเป็นรายงานที่ดี    มีระเบียบวิธีการอะไรบ้างที่จะต้องเรียนรู้ก่อนทำรายงาน   ในบทความนี้จะให้คำตอบที่เป็นหลักปฏิบัติของคำถามเหล่านั้น   เพื่อให้นักศึกษาได้นำไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการเขียนรายงาน  

ลักษณะของรายงานที่ดี
รายงานที่ดีควรมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้  
1.      รูปเล่ม  ประกอบด้วยหน้าสำคัญต่าง ๆ ครบถ้วน  การพิมพ์ประณีตสวยงาม  การจัดย่อหน้าข้อความเป็นแนวตรงกัน    ใช้ตัวอักษรรูปแบบ (Font) เดียวกันทั้งเล่ม  จัดตำแหน่งข้อความและรูปภาพได้สอดคล้องสัมพันธ์ และอ่านง่าย
2.      เนื้อหา  เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าที่น่าสนใจของผู้เขียน    แสดงถึงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง  เป็นปัจจุบันทันสมัย   ครอบคลุมเรื่องได้อย่างสมบูรณ์  แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งของผู้เขียน   นอกจากแสดงความรู้ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้เขียนควรแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์  นำเสนอความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ทรรศนะใหม่ ๆ    หรือแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องที่กําลังศึกษาอยู่     ด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นไปตามลำดับไม่ซ้ำซากวกวน    แสดงให้เห็นความสามารถในการกลั่นกรอง  สรุปความรู้และความคิดที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ
3.      สำนวนภาษา  เป็นภาษาที่นิยมโดยทั่วไป   สละสลวย  ชัดเจน  มีการเว้นวรรคตอน สะกดการันต์ถูกต้อง  ลำดับความได้ต่อเนื่อง  และสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง
4.      การอ้างอิงและบรรณานุกรมถูกต้องตามแบบแผน   มีการแสดงหลักฐานที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน  เมื่อกล่าวถึงเรื่องใดก็มีหลักฐานอ้างอิงเพียงพอและสมเหตุสมผล     เลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้   ซึ่งการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรมจะบ่งบอกถึงคุณภาพทางวิชาการของรายงานนั้น


ข้อควรคำนึงในการทำรายงาน

วัตถุประสงค์ของอาจารย์ผู้สอนที่กำหนดให้นักศึกษาทำรายงาน  ก็เพื่อให้รู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง   ซึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเองจะทำให้ผู้เรียนสามารถติดตามความรู้ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิชาการ  ช่วยให้จดจำเรื่องราวที่ตนศึกษาได้อย่างแม่นยำและยาวนาน   เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว  อาจารย์ผู้สอนจึงมักจะพิจารณาประเมินคุณค่าของรายงานดังนี้
1.  ต้องไม่ใช่ผลงานที่คัดลอกของผู้อื่น (สำคัญมาก)  
2.   ต้องเป็นผลงานที่แสดงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วน  (คือมีเนื้อหาสาระที่สามารถตอบคำถาม  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไร ได้)  และมีเนื้อหาสาระที่แสดงเหตุผล แสดงความคิดหรือทรรศนะของผู้เขียน ที่เป็นผลจากการได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเหล่านั้น   (คือมีเนื้อหาที่ตอบคำถาม  ทำไม- เพราะเหตุใด   ทำอย่างไร) 
3.   ต้องเป็นผลงานที่จัดรูปเล่มอย่างประณีต  อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย    รายงานที่ดีจึงต้องจัดรูปเล่มให้อ่านง่าย  เรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นลำดับ  กำหนดหัวข้อเรื่องไม่ซ้ำซ้อนวกวน (ต้องวางโครงเรื่องให้ดี)
4.   ต้องเป็นผลงานที่แสดงถึงจรรยาบรรณของนักวิชาการที่ดี  คือมีการอ้างอิงและทำบรรณานุกรมที่ถูกต้องตามแบบแผน  แสดงหลักฐานที่มาอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน

ขั้นตอนการทำรายงาน

ารทำรายงานให้ประสบความสำเร็จ  ควรวางแผนดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
1.      กำหนดเรื่อง
การกำหนดเรื่องที่จะทำรายงาน  ต้องเกิดจากความต้องการอยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ควรเป็นเรื่องที่นักศึกษาสนใจ    หรือมีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้างแล้ว    ขอบเขตของเรื่องไม่ควรกว้างหรือแคบเกินไป   เพราะถ้ากว้างเกินไปจะทำให้เขียนได้อย่างผิวเผิน หรือถ้าเรื่องแคบเกินไปอาจจะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเขียนได้   ในการกำหนดเรื่องควรคิดโครงเรื่องไว้คร่าว ๆ  ว่าจะมีเนื้อหาในหัวข้อใดบ้าง 
2.      สำรวจแหล่งข้อมูล
แหล่งข้อมูลเบื้องต้นควรเริ่มที่ห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต  ในการสำรวจควรใช้เครื่องมือที่แหล่งนั้นจัดเตรียมไว้ให้ เช่นห้องสมุดควรใช้  บัตรรายการ  บัตรดัชนีวารสาร  และ โอแพค (OPAC)  เป็นต้น  การค้นทางอินเทอร์เน็ตควรใช้เว็บไซต์ Google, Yahoo  เป็นต้น  นักศึกษาต้องเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือและคำสั่งในการสืบค้นให้เข้าใจดีเสียก่อน  จึงจะช่วยให้ค้นคว้าได้รวดเร็วและได้เนื้อหาสาระที่ครบถ้วน     เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วจะต้องจัดเก็บรวบรวมให้เป็นระบบ  เป็นหมวดหมู่    เอกสารที่รวบรวมได้ทุกรายการต้องเขียนบรรณานุกรมบอกแหล่งที่มาไว้ด้วย  เพื่อใช้ค้นคืนไปยังแหล่งเดิมได้อีกในภายหลัง
3.      กำหนดโครงเรื่อง
การกำหนดโครงเรื่อง เป็นการกำหนดขอบข่ายเนื้อหาของรายงานว่าจะให้มีหัวข้อเรื่องอะไรบ้าง  โครงเรื่องที่ดีจะต้องมีสาระสำคัญที่ตอบคำถาม  5W1H ได้ครบถ้วน  กล่าวคือ เนื้อหาของรายงานควรตอบคำถามต่อไปนี้ได้   เช่น     ใครเกี่ยวข้อง (Who)  เป็นเรื่องอะไร (What)  เกิดขึ้นเมื่อไร (When)  ที่ไหน (Where)   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น--เพราะเหตุใด (Why)   เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีวิธีทำอย่างไร (How) 
การคิดโครงเรื่องอาจใช้ผังความคิด (Mind map) ช่วยในการกำหนดประเด็นหัวข้อใหญ่หัวข้อรอง   ส่วนการจัดเรียงหัวข้อให้มีความสัมพันธ์เป็นลำดับต่อเนื่องที่ดี อาจใช้ผังความคิดแบบก้างปลา (Fish bone diagram) หรือแบบต้นไม้ (Tree diagram)   จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิดได้ง่ายขึ้น    การตั้งชื่อหัวข้อควรให้สั้นกระชับได้ใจความครอบคลุมเนื้อหาในตอนนั้น ๆ
4.      รวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง 
เมื่อกำหนดโครงเรื่องแน่ชัดดีแล้ว  จึงลงมือสืบค้นและรวบรวมข้อมูลตามบรรณานุกรมที่รวบรวมไว้ในขั้นตอนการสำรวจ     การรวบรวมอาจจะถ่ายเอกสารจากห้องสมุด หรือพิมพ์หน้าเอกสารที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ต  เสร็จแล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาแยกตามหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้
5.      อ่านตีความ สังเคราะห์ข้อมูล และจดบันทึก
การอ่านให้เน้นอ่านจับใจความสำคัญของเรื่อง  เพื่อดึงเนื้อหาที่สอดคล้องกับประเด็น แนวคิดต่างๆ ตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้   ทำการบันทึกเนื้อหาลงในบัตรบันทึก  เสร็จแล้วนำบัตรบันทึกมาจัดกลุ่มตามประเด็นแนวคิด เพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อหาของรายงานต่อไป    หรืออาจทำเครื่องหมายตรงใจความสำคัญ (ขีดเส้นใต้) แทนการทำบัตรบันทึก  (กรณีเป็นหนังสือของห้องสมุดไม่ควรขีดเขียนหรือทำเครื่องหมายใดๆ)
6.      เรียบเรียงเนื้อหา
เนื้อหาสาระที่นำมาเรียบเรียงต้องเป็นเนื้อหาที่ได้จากการประเมิน วิเคราะห์ และสังเคราะห์จากขั้นตอนที่ 5 มาแล้ว   (การวิเคราะห์และสังเคราะห์สารสนเทศ   สามารถศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ในรายวิชาสารสนเทศและการศึกษาค้นคว้า)


 ส่วนประกอบของรายงาน
รายงานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วนคือ 1) ส่วนนำเรื่อง ได้แก่ ปกนอก  ปกใน  คำนำ สารบัญ  2) ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย บทนำ  เนื้อเรื่อง และบทสรุป  3) ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วยรายการอ้างอิง บรรณานุกรม  และ  4) ภาคผนวก  ซึ่งแต่ละส่วนควรมีสาระสำคัญดังนี้
1.  ปกนอกและปกใน  ปกนอกใช้กระดาษอ่อนที่หนากว่าปกในซึ่งอาจเลือกสีได้ตามต้องการ  ไม่ควรมีภาพประกอบใด ๆ   ส่วนปกในและเนื้อเรื่องให้ใช้กระดาษขาวขนาด A4 ความหนาไม่ต่ำกว่า 80 แกรม   ปกในพิมพ์ข้อความเช่นเดียวกับปกนอก    ข้อความที่ปกนอกปกในประกอบด้วย  ชื่อเรื่องของรายงาน  ชื่อผู้เขียน  รหัสประจำตัว  ชื่อวิชา   ชื่อสถานศึกษา  และช่วงเวลาที่ทำรายงาน  ดังตัวอย่าง

ตัวอย่าง


2.  คำนำ   กล่าวถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์ ความเป็นมา  ประเด็นหัวข้อเนื้อหาในรายงานเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากติดตามเรื่อง ซึ่งอาจเป็นปัญหา ประโยชน์หรือผลกระทบอย่างไรต่อผู้อ่านและสังคม  อาจกล่าวขอบคุณหรือบอกแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่นำเสนอ  สุดท้ายระบุชื่อ-สกุล ผู้เขียนรายงานและวันเดือนปีในการทำรายงาน  ดังตัวอย่าง

ตัวอย่าง



3. สารบัญ   ระบุหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง (ถ้ามี) และเลขหน้า     ใช้จุดไข่ปลาลากโยงจากหัวข้อไปยังเลขหน้าให้ชัดเจน   การพิมพ์สารบัญต้องจัดย่อหน้าและเลขหน้าให้ตรงกัน  ดังตัวอย่าง


4.  เนื้อเรื่อง   
เนื้อเรื่องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ  ส่วนนำเรื่อง  ส่วนเนื้อเรื่อง  และส่วนสรุป  
ส่วนนำเรื่องหรือบทนำ  ต้องเขียนให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อไป    บทนำอาจกล่าวถึง ความสำคัญ  บทบาท  ปัญหา  ผลกระทบ  วัตถุประสงค์  ขอบเขตเนื้อหา  หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ เป็นต้น  ซึ่งประเด็นที่กล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมด แต่อย่างน้อยให้มีประเด็นใดประเด็นหนึ่งดังที่กล่าว 
ตัวอย่างการเขียนบทนำเรื่องแนวคิดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

 การอ่านเป็นสื่อกลางของการเรียนรู้  ผู้ที่อ่านมากย่อมมีความรู้มาก  เราสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยการอ่าน  แต่จากผลการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ)  พบว่าความสามารถของผู้เรียนในการแสวงหาความรู้อยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง  การอ่านของนักเรียนไทยตกต่ำลงทุกปี  จึงเป็นปัญหาที่น่าสนใจในการช่วยกันส่งเสริมทักษะการอ่านให้กับนักเรียนไทย  เพื่อให้เกิดความรู้สึกอยากอ่าน  มากกว่าการอ่านเพื่อสอบเก็บคะแนน

ส่วนเนื้อเรื่องเป็นส่วนที่แสดงข้อเท็จจริง  ข้อเสนอแนะ  ความคิดเห็น หรือผลสรุปที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าของผู้เขียน   การนำเสนอเนื้อหาจะต้องมีหลักฐานอ้างอิง มีข้อมูลสถิติ ภาพประกอบ ตาราง แผนที่ แผนภูมิ ตามความจำเป็น  ซึ่งจะทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าเชื่อถือและเข้าใจได้ง่าย   (ดูตัวอย่างการอ้างอิงในข้อ 5)
ส่วนสรุป เป็นส่วนชี้ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการบอกผู้อ่าน  ผู้เขียนอาจสรุปเนื้อหาตามลำดับหัวข้อใหญ่แต่ละหัวข้อทั้งหมดจนจบ  โดยสรุปหัวข้อละ 1 ย่อหน้า   หรือเลือกสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญสั้นๆ ก็ได้  ที่สำคัญในการสรุปจะต้องไม่นำเสนอประเด็นเนื้อหาใหม่อีก

5. การอ้างอิง   
การอ้างอิงจะแทรกเป็นวงเล็บไว้ในเนื้อเรื่อง   เพื่อบอกแหล่งที่มาของข้อมูล  เป็นการยื่นยันความถูกต้องและแสดงความน่าเชื่อถือของข้อมูล   การอ้างอิงให้ระบุชื่อผู้แต่ง  ปีพิมพ์  และเลขหน้า   หรือที่เรียกว่าอ้างอิงแบบ  นาม- ปี  ซึ่งมีวิธีการดังนี้

5.1   ระบุไว้หลังข้อความที่อ้าง  เช่น 

สารสนเทศ หมายถึง ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ ที่ผ่านกระบวนการ ประมวลผล มีการถ่ายทอด และการบันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ รายงาน โสตทัศนวัสดุ เทปคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการถ่ายทอดในรูปแบบอื่นๆ เช่น คำพูด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้รับสารได้ทราบ   (ประภาวดี  สืบสนธิ์, 2543, หน้า 6)

5.2     ระบุไว้ก่อนข้อความที่อ้าง  เช่น

ชุติมา  สัจจานันท์ (2530, หน้า 17) ให้ความหมายของสารสนเทศไว้ว่า คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ข้อสนเทศ สารสนเทศ ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และวัสดุย่อส่วน เพื่อใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารและการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งส่วนบุคคลและสังคม

หลักธรรมาภิบาล มีองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ประการดังนี้  (สำนักงาน ก.พ., 2550,  หน้า 15)
1.  หลักนิติธรรม
2. หลักคุณธรรม
3. หลักความโปร่งใส

บรรณานุกรม  หน้าบรรณานุกรมจะอยู่ต่อจากส่วนเนื้อเรื่อง   โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือที่นำมาอ้างอิงไว้ในรายงานได้แก่  ชื่อผู้แต่ง ปีพิมพ์  ชื่อบทความ  ชื่อหนังสือ  ครั้งที่พิมพ์  และสถานที่พิมพ์  เป็นต้น 
               การเขียนบรรณานุกรมมีรูปแบบที่เป็นสากลหลายรูปแบบ  แต่ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบคือ แบบ MLA (Modern Language Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขามนุษยศาสตร์  และแบบ  APA (American Psychological Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์       ในที่นี้จะแนะนำการเขียนบรรณานุกรมแบบ  APA   เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็นหลักในการเขียนบรรณานุกรมประกอบการทำรายงานทางวิชาการ

    การเขียนบรรณานุกรมตามรูปแบบ APA  มีหลักเกณฑ์กำหนดแยกตามชนิดของสื่อแต่ละประเภทดังนี้

หนังสือ
               รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์).  ชื่อหนังสือ  (ครั้งที่พิมพ์).  สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์
                           อุทัย  หิรัญโต. (2531). หลักการบริหารบุคคล. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
                           Baxter, C. (1997). Race equality in health care and education.
                                     Philadelphia : Ballière Tindall.

วารสาร  นิตยสาร      
               รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์).  ชื่อบทความ.  ชื่อวารสาร, ปีที่(ฉบับที่), เลขหน้า.                                   
                           สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. (2537).  ความรู้ทั่วไป
                                    เกี่ยวกับเห็ดพิษ.  เกษตรก้าวหน้า, 9(2), 45-47
                           Klimoski, R., & Palmer, S. (1993). The ADA and the hiring process in
                                    organizations. Consulting Psychology Journal: Practice and
                                    Research, 45(2), 10-36.

หนังสือพิมพ์  
               รูปแบบ:          ชื่อผู้แต่ง.  (ปี, เดือน วัน).  ชื่อบทความ.  ชื่อหนังสือพิมพ์, หน้า

                           สุนทร  ไชยชนะ.  (2551, กุมภาพันธ์ 25).  หนองหานสกลนครวันนี้.  มติช, หน้า 10.
                           Brody, J. E. (1995, February 21). Health factor in vegetables still elusive.  
                                    New York Times, p. C1.

             วิทยานิพนธ์
               รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง. (ปี).  ชื่อวิทยานิพนธ์.  วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญา สาขาวิชา, สถาบัน.
                                    จิราภรร์ ปุญญวิจิตร. (2547). การศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ
                                    ในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนระบบนานาชาติระดับชั้นอนุบาลใน
                                    จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามความต้องการของผู้ปกครอง.  วิทยานิพนธ์
                                    ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา, มหาวิทยาลัยราชภัฏ
                                    พระนครศรีอยุธยา.

อินเทอร์เน็ต
               รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปี, เดือน วัน).  ชื่อบทความ.  ค้นเมื่อ วัน เดือน ปี  จาก URL
                                                  ธนู  บุญญานุวัตร. (2545).  การสืบค้นสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต.  ค้นเมื่อ 
                                    6 ธันวาคม 2551 จาก http://www.aru.ac.th/research.html.
                                    American Psychological Association. (1999, June 1). Electronic preference
                                    formats recommended by the American Psychological Association.
                                    Retrieved July 18, 1999, from http://www.apa.org/journals/ webref.html

การพิมพ์รายงาน

รูปเล่มรายงานที่สวยงามประณีต ชวนอ่านและอ่านง่ายนั้น  จะต้องคำนึงถึงการจัดวางหน้า ระยะขอบพิมพ์  การย่อหน้า  การใช้ตัวอักษร  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ให้ถือปฏิบัติดังนี้   
1.      พิมพ์รายงานด้วยเครื่องเลเซอร์  ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์ให้ใช้ตัวอักษร Angsana UPC  ขนาด  16 ปอยท์  ใช้กระดาษมาตรฐานขนาด A4 ไม่มีกรอบไม่มีเส้น หมึกพิมพ์สีดํา
2.      จัดระยะขอบกระดาษให้ขอบกระดาษบนและซ้ายห่าง 1.5 นิ้ว ขอบกระดาษล่างและขวาห่าง 1 นิ้ว    การจัดขอบข้อความด้านขวาไม่จำเป็นต้องจัดตรงทุกบรรทัด 
3.      การย่อหน้า ให้ย่อหน้าที่ 1 เว้นระยะจากขอบพิมพ์  7 ระยะตัวอักษรพิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 8   ย่อหน้าต่อ ๆ ไป ให้เว้นเข้าไปอีกย่อหน้าละ 3  ตัวอักษร  คือย่อหน้าที่ 2  พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 11  และย่อหน้าที่ 3  พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 14  เป็นต้น 
4.      ชื่อบท ให้พิมพ์กลางหน้ากระดาษ (ได้แก่  คํานํา  สารบัญ  บทที่ 1..   บรรณานุกรม)   ชื่อบทใช้อักษร Angsana UPC  ขนาด  18 ปอยท์    เว้นบรรทัดระหว่างชื่อบทกับข้อความที่เป็นเนื้อหา 1 บรรทัด (คือพิมพ์ชื่อบทแล้วเคาะEnter 2 ครั้ง)
5.       หัวข้อใหญ่ ให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านขวา และทำตัวหนา-ดำ    ส่วนหัวข้อรองพิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 1  (ตรงอักษรตัวที่ 8)  หากมีหัวข้อย่อย ๆ ภายใต้หัวข้อรองให้พิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 2, 3…. ตามลำดับ
6.       บรรณานุกรมให้จัดพิมพ์เรียงตามลำดับตัวอักษร   เรียงบรรณานุกรมภาษาไทยก่อนภาษาอังกฤษ   บรรณานุกรมแต่ละรายการให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านซ้าย (ไม่ย่อหน้า)  กรณีพิมพ์ไม่จบในบรรทัดเดียว  ให้พิมพ์ต่อตรงย่อหน้าที่ 1  หรืออักษรตัวที่ 8   

สรุป
รายงานทางวิชาการเป็นผลจากการแสวงหาความรู้ตามขอบข่ายเนื้อหาสาระในรายวิชาต่างๆ  ที่อาจารย์ผู้สอนมอบหมาย    เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมไปกับการมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรายวิชาเหล่านั้น
การทำรายงานทางวิชาการอย่างเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจาก  1) กำหนดเรื่อง  2) สำรวจแหล่งข้อมูล เพื่อค้นหาข้อมูลเบื้องต้นมาเป็นแนวทางในการ  3) กำหนดโครงเรื่อง   4) การรวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง  5) การอ่านวิเคราะห์และสังเคราะห์  แล้วจึงลงมือ 6) เขียนรายงาน  จะช่วยลดความยุ่งยากและช่วยให้การทำรายงานสำเร็จได้โดยง่าย    
รายงานทางวิชาการที่ดี  จะพิจารณากันที่  รูปเล่ม  เนื้อหา  การเขียนอธิบายความชัดเจน  เข้าใจง่าย   มีการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรม ที่มาของข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถูกต้องตามแบบแผน   

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://web.aru.ac.th/thanoo/images/stories/information/report.doc

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

การก่อตัวของลัทธิชาตินิยม

การก่อตัวของลัทธิชาตินิยม
    ลัทธิชาตินิยมเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรักความนิยม ความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในชาติ เชื้อชาติและวัฒนธรรมในชาติ เช่นศาสนา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆเงื่อนไขสำคัญที่เชื่อมโยงให้เกิดลัทธิชาตินิยมในหมู่ประชาชนคือการมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเผชิญปัญหาร่วมกัน ดังนั้นกระแสชาตินิยมจึงก่อตัวขึ้นได้ในทุกดินแดน เมื่อคนในชาตินั้นรู้สึกว่าชาติเผ่าพันธุ์หรือวัฒนธรรมของตนกำลังถูกคุกคามหรือครอบงำจากชนชาติอื่นหรือชนกลุ่มอื่นในชาติเดียวกัน

สาเหตุของการเกิดลัทธิชาตินิยม


     ลัทธิชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละดินแดนมีพัฒนาการแตกต่างกันตามเงื่อนไขและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดลัทธิชาตินิยม สาเหตุสำคัญของการเกิดลัทธิชาตินิยมเป็นผลจากการขยายลัทธิจักรวรรดินิยม ความคลั่งชาติและความเชื่อมั่นในอุดมการณ์การเมือง

    การขยายลัทธิจักรวรรดินิยมลัทธิชาตินิยมมักก่อตัวขึ้นในดินแดนอาณานิคมนำโดยปัญญาชนและผู้นำชาวพื้นเมืองที่ได้รับการศึกษาดีและรู้เท่าทันชาวตะวันตก บุคคลเหล่านั้นเห็นว่าชาวตะวันตกกอบโกยทรัพยากรและความมั่งคั่งไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน ในขณะที่ชาวอาณานิคมมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นและด้อยพัฒนา จึงเกิดความรู้สึกต่อต้านเมืองแม่และปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชน ทั้งในรูปของการแสดงปาฐกถา และการเผยแพร่แนวความคิดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น บทความ และแผ่นปลิวความคลั่งชาติ ความรักชาติและเผ่าพันธุ์อย่างรุนแรงของผู้นำประเทศบางคนที่ต้องการสร้างประเทศของตนให้เป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ ทำให้กลายเป็นความคลั่งชาติและมีการปลุกกระแสนิยมในหมู่ประชาชนให้คล้อยตาม ความคิดและปฏิบัติตามผู้นำ ดังกรณีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซี (Nazi) เยอรมันต้องการสร้างประเทศเยอรมณีให้เป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ และยุยงให้ต่อต้านชาวยิว เพราะฮิตเลอร์เชื่อว่าชาวยิวเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของชนเผ่าอารยัน แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในระหว่างสงครามดังกล่าว




    ความเชื่อมั่นในอุดมการณ์การเมืองความยึดมั่นในลัทธิการเมืองของผู้นำแต่ละประเทศก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดลัทธิชาตินิยมด้วย โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศที่ยึดถืออุดมการณ์การเมืองแตกต่างกัน ผู้นำบางประเทศได้ปลุกกระแสชาตินิยมให้ประชาชนคล้อยตามอุดมการณ์ที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ และให้ต่อต้านอุดมการณ์ที่แตกต่างจากตนอย่างรุนแรง เช่น กรณีเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งต่างยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนจนไม่สามารถปรองดองกัน

การขยายตัวของลัทธิชาตินิยม

    ลัทธิชาตินิยมเริ่มขึ้นในทวีปยุโรปและขยายตัวในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากนั้นลัทธิชาตินิยมได้ ขยายตัวในทวีปต่างๆ อย่างรวดเร็วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ถูกย่ำยีจากกองทัพของต่างชาติ เช่น กองทัพนาซีเข้ารุกรานประเทศยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก และกองทัพของญี่ปุ่นกดขี่ข่มเหงประชาชนในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างสงครามมหาเอเชียบรูพา ส่งผลให้มีการขยายตัวของลัทธิชาตินิยม ต่อมาลัทธิชาตินิยมได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในประเทศเกิดใหม่หลังสงครามและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในดินแดนเหล่านั้น หารขยายตัวของลัทธิชาตินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสาเหตุ ดังต่อไปนี้
ประการแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนต่างๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ ตลอดจนชนกลุ่มน้อยที่เคยถูกปกครองและถูกกดขี่ข่มเหงจากประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเดียวกันได้ใช้ลัทธิชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว ขอแยกตัวเป็นอิสระ ส่งผลให้มีประเทศเกิดใหม่เนื่องจากแรงผลักดันด้านชาตินิยมเป็นจำนวนมากในเอเชีย แอฟริกา และแหลมบอลข่าน
ประการที่สอง ประชาชนในประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นอดีตอาณานิคมของต่างชาติถูกกระตุ้นให้มีความนึกคิดแบบชาตินิยม เนื่องจากผู้นำประเทศต้องการใช้จิตสำนึกนี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ เช่น เวียดนาม และเกาหลีใต้
ประการที่สาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต่างพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า และอาศัยความช่วยเหลือจากชาติมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ชาติมหาอำนาจจึงฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบและเรียกร้องสิ่งตอบแทน เช่น การขอตั้งฐานทัพเพื่อขยายอิทธิพลทางการทหารและการเอาเปรียบด้านการค้า กรณีเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมต่อต้านประเทศมหาอำนาจ เช่น การประท้วงขับไล่ทหารอเมริกันในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ การประท้วงสินค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย ฯลฯ

ผลของลัทธิชาตินิยม

การต่อสู้และเรียกร้องเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมได้ส่งผลกระทบที่สำคัญคือ
ประการแรก ทำให้เกิดสงครามเรียกร้องเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเจ้าของอาณานิคมเดิม หรือผู้ปกครองประเทศไม่ยินยอมให้ชนกลุ่มน้อยแบ่งแยกดินแดน กลุ่มชาตินิยมจึงผลักดันให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้าน เช่น สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับอาณานิคมในอินโดจีน สงครามระหว่างกลุ่มเรียกร้องเอกราชในอินโดนีเซียกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ และสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ในแหลมบอลข่าน แอฟริกา พม่า อิหร่าน และอิรัก
ประการที่สอง ทำให้มหาอำนาจในสงครามเย็นฉวยโอกาสแทรกแซงการต่อสู้ของกลุ่มชาตินิยมในประเทศที่กำลังมีความขัดแย้งเป็นผลให้ปัญหาบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง และประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ดังเช่น กรณีสงครามกลางเมืองในกัมพูชา สงครามเวียดนาม และสงครามเกาหลี
แหล่งอ้างอิง http://metricsyst.wordpress.com

สงครามฝิ่น

สงครามฝิ่น





    สงครามฝิ่น  ฝิ่นเป็นยาเสพย์ติดที่ชาวจีนติดกันอย่างงอมแงมและติดกันมานาน ในรัชกาลจักรพรรดิหย่งเจิ้นเคยมีดำริที่จะทำการปราบปรามฝิ่นแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ชาวจีนส่วนใหญ่ยังติดฝิ่นเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิเต้ากวงปีที่ 19 พระองค์มีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่จะทำการปราบฝิ่น ทรงแต่งตั้งหลินเจ๋อสวี เป็นผู้ตรวจราชการสองมณฑล ขึ้นเป็นผู้นำในการกวาดล้างฝิ่นจากแผ่นดินจีน


เริ่มกระบวนการปราบปรามฝิ่น

       หลินเจ๋อสวีเริ่มงานด้วยการห้ามค้าฝิ่นในมณฑลกวางตุ้ง และจับพ่อค้าฝิ่นชาวจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดไปคุมตัวในเรือนจำ ใครที่มีหลักฐานว่าค้าฝิ่นจะต้องถูกประหาร และตัดศีรษะเสียบประจาน เพื่อข่มขู่ชาวจีนอื่น ๆ ให้เกรงกลัวจะได้ไม่กล้าค้าฝิ่นอีก นอกจากปราบปรามการค้าฝิ่นในหมู่ชาวจีน หลินเจ๋อสวี ยังได้พยายามฟื้นฟูสุขภาพชาวจีนที่ติดฝิ่น โดยจัดโครงการรณรงค์การอดฝิ่น มีชาวจีนหลายคนที่อดฝิ่นได้สำเร็จ ทางการก็จะประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้คนอื่น ๆ เอาเป็นแบบอย่างอันดีที่จะพยายามเลิกฝิ่นให้ได้ จากนั้นหลินเจ๋อสวีก็สั่งห้ามเรือพ่อค้าต่างชาติที่บรรทุกฝิ่นเข้ามาในอาณาจักรจีน โดยห้ามเรือล่องเข้าแม่น้ำจูเจียงมาเป็นเด็ดขาด และประกาศให้พ่อค้าต่างชาติที่มีฝิ่นในครอบครอง ต้องนำฝิ่นมาส่งมอบให้ทางการจีน แต่พ่อค้าชาวต่างชาติไม่สนใจคำสั่งของหลินเจ๋อสวี ยังคงค้าฝิ่นต่อไป หลินเจ๋อสวีจึงสั่งปิดล้อมย่านการค้าของคนต่างชาติใน และบีบให้พ่อค้าต่างชาติส่งฝิ่นให้ทางการจีน หลังจากปิดล้อมอยู่สองวัน พวกพ่อค้าต่างชาติก็ยอมมอบฝิ่นออกมาในที่สุด ฝิ่นที่ยึดได้ครั้งนี้ หลินสั่งให้เอาฝิ่นทั้งหมดไปละลายกับกรดน้ำส้มกับเกลือและน้ำ เพื่อฆ่าฤทธิ์ของฝิ่น แล้วก็โยนทิ้งทะเลไปจนหมดสิ้น ผลจากการปราบปรามฝิ่นอย่างจริงจังของหลินเจ๋อสวี ทำให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะพ่อค้าอังกฤษที่มีผลประโยชน์จากการค้าฝิ่นมหาศาลไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะฝิ่นที่หลินเจ๋อสวีทำลายไปมีจำนวนมหาศาลถึง 20,000 ลัง คิดเป็นน้ำหนักสองล้านปอนด์ครึ่ง และเนื่องจากฝิ่นเป็นสินค้าที่มีค่าสูง จึงยังมีพ่อค้าต่างชาติทั้งชาวอังกฤษและโปรตุเกส ยังคงลอบค้าฝิ่น แต่เปลี่ยนฐานการค้าจากตัวแผ่นดินใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง ไปอยู่ที่มาเก๊า และเกาะฮ่องกง ซึ่งมีทำเลดีกว่าแทน


สงครามปะทุ

        การกระทบกระทั่งระหว่างจีนกับอังกฤษยังคงมีต่อมา เมื่อชาวจีนถูกกะลาสีเรือชาวอังกฤษฆ่าตายที่เกาลูน หลินเจ๋อสวีให้ทางอังกฤษส่งตัวกะลาสีที่ก่อเหตุมารับโทษตามกฎหมายจีน แต่กัปตันเอลเลียตของอังกฤษปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ผลจากการกระทบกระทั่งกันครั้งนี้ ทำให้หลินเจ๋อสวีขับไล่ชาวอังกฤษทั้งหมดออกจากมาเก๊า แต่พ่อค้าเหล่านี้ก็ไปตั้งหลักที่ฮ่องกงแทน กัปตันเอลเลียต ขอความช่วยเหลือไปทางรัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นยุคสมัยของการล่าอาณานิคม ถือเป็นเหตุในการทำสงครามกับจีน โดยเริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2382(ค.ศ. 1839) โดยสั่งให้บริษัทอีสต์อินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทการค้าของรัฐบาลอังกฤษ ส่งกองเรือไปช่วยที่ฮ่องกง เมื่อกองเรือรบกองแรกมาถึงซึ่งประกอบไปด้วยเรือปืนจำนวน 28 ลำ หลินเจ๋อสวีไม่เคยมีประสบการณ์กับการรบกับอาวุธที่ทันสมัยเช่นนี้ จึงถูกโจมตีจนกองเรือจีนพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว หนำซ้ำพวกขุนพลของจีนที่สู้แพ้อังกฤษ ยังไม่กล้ารายงานสถานการณ์ตามความเป็นจริง ทำให้หลินเจ๋อสวีเข้าใจผิดว่ากองเรือของจีนเอาชนะกองเรืออังกฤษได้ จึงถวายรายงานกับพระจักรพรรดิเต้ากวงว่า จีนได้รับชัยชนะ และยิ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อพวกอังกฤษยิ่งขึ้น ในที่สุด ในปี พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) ฝ่ายกองเรือรบอังกฤษก็บุกเข้าปากแม่น้ำจูเจียง และยึดเมืองกวางซูเอาไว้ได้อย่างง่ายดาย พร้อมทั้งเคลื่อนกองเรือรุกเข้ามาในแผ่นดินจีนขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังส่งกองเรือจำนวนหนึ่งไปยึดเมืองท่าริมทะเลเอาไว้ด้วย ความทราบถึงพระจักรพรรดิเต้ากวง จึงทรงตำหนิหลินเจ๋อสวีอย่างรุนแรง และปลดหลินเจ๋อสวีจากตำแหน่งทั้งหมด เนรเทศไปยังซินเจียง และส่งแม่ทัพฉีซานมาแทน ฉีซานไม่สามารถต้านทานแสนยานุภาพของอังกฤษได้



ผลลัพธ์

       ในปี พ.ศ. 2385 (ค.ศ. 1842) กองทัพอังกฤษบุกเข้ายึดเมืองนานกิงได้ จนกระทั่งในที่สุดจำเป็นต้องเจรจาสงบศึกกับอังกฤษ ที่เมืองนานกิงนั่นเอง และยอมเซ็นสนธิสัญญาที่ชาวจีนถือว่าอัปยศที่สุด ที่เรียกว่าสนธิสัญญานานกิงในปีเดียวกันนั้น เนื้อหาในสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษบังคับให้จีนเปิดเมืองท่าตามชายทะเลเพื่อค้าขายกับอังกฤษ รวมทั้งขอสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือดินแดนจีน คนที่ถือสัญชาติอังกฤษ จะไม่ต้องขึ้นศาลจีน รวมทั้งสิทธิใด ๆ ที่อังกฤษได้ ต่างชาติอื่น ๆ ก็ต้องได้ด้วย แม้ว่าเนื้อหาของสนธิสัญญานี้ จีนต้องเสียเปรียบอังกฤษเป็นอย่างมาก แต่จีนก็จำต้องเซ็นสัญญาเพื่อยุติสงครามที่จีนเสียเปรียบอย่างเทียบไม่ติด ต่อมาจีนก็สูญเสียเอกราชบนคาบสมุทร เกาลูนไปอีก ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) ตามสนธิสัญญาปักกิ่ง ในรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง ปีที่ 10 และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) ตรงกับรัชกาลจักรพรรดิกวังซวี่ ปีที่ 24 สูญเสียพื้นที่เขตดินแดนใหม่ (New Territories) ให้กับสหราชอาณาจักรในสัญญาเช่า 99 ปี นับแต่นั้น เซินเจิ้นและฮ่องกงก็ถูกแบ่งแยกการปกครองออกจากกัน และภายใน พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) คนจีนกว่า 13 ล้านคน ยังคงติดฝิ่นอยู่ เศรษฐกิจของจีนถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากการที่จีนต้องนำเข้าฝิ่นเป็นจำนวนมากมายมหาศาลและราชวงศ์ชิงก็ตกอยู่ในภาวะแห่งการล่มสลาย
แหล่งอ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki/